การประยุกต์ใช้งานระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ระบบผสมผสาน
การใช้ความร้อนในด้านต่างๆ ที่ผ่านมามีการผลิตด้วยพลังงานสิ้นเปลือง ได้แก่ ไฟฟ้าและเชื้อเพลิงรูปแบบต่างๆ เช่น น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล หรือก๊าซ ซึ่งทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการผลิตที่สูงและสิ้นเปลืองมาก โดยในการใช้พลังงานความร้อนในรูปแบบของน้ำร้อน หากมีการใช้งานน้ำร้อนในระดับไม่เกิน 100 องศา C โดยมีปริมาณตั้งแต่ 2,000 ลิตรต่อวันขึ้นไป ระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบผสมผสานถือว่ามีความเหมาะสมมากทั้งในระดับของอุณหภูมิน้ำที่ผลิตได้ และปริมาณน้ำร้อนที่ต้องการใช้งาน ซึ่งจะทำให้ลดการใช้พลังงานสิ้นเปลืองลงได้อย่างมาก โดยสามารถใช้งานด้านต่างๆ ดังนี้

- การใช้งานสำหรับห้องพักและห้องน้ำในโรงแรม หอพัก หรืออพาร์ทเม้นท์
- การใช้งานในโรงพยาบาลเพื่อห้องผู้ป่วย อุปกรณ์ทางการแพทย์ และธาราบำบัด
- การใช้สำหรับการอุ่นน้ำป้อนให้หม้อไอน้ำ
- การใช้งานเพื่อกระบวนการผลิตโดยตรง เช่น กระบวนการล้าง หรือชุบต่างๆ
- การใช้งานอื่นๆ เช่น การอุ่นน้ำสำหรับสระว่ายน้ำ เป็นต้น
โดยการกำหนดขนาดของระบบจะขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้น้ำร้อน และอุณหภูมิการใช้งานที่ต้องการ โดยในเบื้องต้นผู้สนใจติดตั้งระบบต้องพิจารณาจากความต้องการดังกล่าว ซึ่งอาจหาได้จากจำนวนห้องพัก จำนวนห้องน้ำ จำนวนคนที่ใช้บริการ จำนวนสุขภัณฑ์ หรือหากเป็นกรณีโรงงานต้องพิจารณาจากปริมาณน้ำร้อนที่ต้องการใช้ในกระบวนการผลิตหรือหม้อไอน้ำ เพื่อกำหนดขนาดของระบบ
ซึ่งระบบต้องการสถานที่ติดตั้งที่เหมาะสม ได้แก่ ลานโล่งที่ไม่มีเงาบังเพื่อการติดตั้งแผงรับรังสี พื้นที่มั่นคงแข็งแรงเพื่อการติดตั้งถังเก็บน้ำร้อนเพื่อใช้ในโครงการ ตลอดจนแหล่งความร้อนเหลือทิ้งเพื่อใช้ในการผลิตความร้อนร่วมในระบบฯ